วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บทสัมภาษณ์พี่มินนี่ จนท. โครงการ รพ มีสุข

            จามจุรี  แซ่ซื้อ หรือ พี่มินนี่ เล่าให้เราฟังว่า เริ่มรู้จักมูลนิธิกระจกเงาตั้งแต่ตอนที่กำลังหาที่ฝึกงาน ตอนแรกคุยกับเพื่อนว่าจะไปฝึกที่สำนักงานเชียงราย แต่ก็กลัวว่าอาจารย์จะไม่สะดวกตอนไปนิเทศ เลยเลือกที่จะมาฝึกงานที่สำนักงานกรุงเทพฯแทน โครงการแรกที่เลือกทำตอนมาฝึกงานคือ โครงการการจัดการภัยพิบัติ เพราะว่าตัวพี่เองเรียนสายพัฒนาชุมชนมาก็จะชอบลงพื้นที่ พอฟังจากชื่อโครงการแล้วก็คิดว่ามันต้องได้อยู่ข้างนอกแน่เลย แต่ปรากฏว่าตอนที่เข้ามาทำหน้างานมันยังไม่มีอะไร พี่ๆเจ้าหน้าที่เลยให้กระจายไปอยู่โครงการอื่นโครงการละหนึ่งคน ตัวพี่มินนี่เองก็เลยได้มาอยู่โครงการโรงพยาบาลมีสุข ส่วนที่ได้มาทำงานที่มูลนิธิกระจกเงาก็เพราะว่าตอนช่วงใกล้เรียนจบ พี่เก่งหัวหน้าโครงการโรงพยาบาลมีสุขก็มาคุยว่าอยากทำงานกับพี่ไหม พี่ก็เลยคิดว่า ไหนๆก็ฝึกงานโครงการนี้แล้ว ได้เห็นหน้างาน ลักษณะงานแล้วว่าเป็นยังไง ก็เลยสนใจ ซึ่งหน้าที่ในการทำงาน ก็ทำทุกอย่างเลย ตั้งแต่เรื่องการลงพื้นที่เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็จะมีการติดต่อประสานงานทั้งฝ่ายโรงพยาบาลและฝ่ายอาสาสมัคร รวมไปถึงเรื่องงานเอกสารพี่มินนี่ก็จะดูแลเรื่องของการเงิน แล้วก็ช่วยพี่เก่งในเรื่องของการทำรายงานสรุปผลโครงการ
            พี่มินนี่เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ประทับใจที่ได้จากการไปลงพื้นที่ให้เราฟังว่า จะมีเคสของน้องคนหนึ่งชื่อว่า น้องบิว น้องบิวป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือเขาต้องทำคีโมแต่เกิดอาการแพ้ ทำให้ทานอาหารไม่ได้ จะกลืนน้ำทีนึงก็ลำบาก ผิวหนังของเขาก็เหมือนคนถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งก่อนหน้านี้น้องบิวก็ได้มาร่วมกิจกรรมในห้องเรียนกับเราก็คุ้นเคยกันในระดับนึง เขาก็เลยบอกคุณครูว่า อยากเจอพี่มินนี่กับพี่มิตร พี่มิตรคือนักศึกษาฝึกงาน ให้ช่วยพามาได้ไหม ถึงเขาอาจจะพูดไม่ค่อยได้แต่เขาก็พยายามสื่อสาร ปรากฏว่าพี่ได้ไปหาเขาก่อนเพราะพี่มิตรฝึกงานเสร็จไปแล้ว ตอนที่พี่เห็นเขาครั้งแรกพี่จำเขาไม่ได้เลย ตัวเขาบวมมาก ผิดปกติจากเดิมแต่พี่เห็นแววตาเขาดีใจที่ได้เจอกับคนคุ้นเคย มันทำให้พี่เห็นได้ว่า กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเรื่องของการรักษา เราได้เห็นเขาจนเขาอาการดีขึ้น เคสน้องบิวเป็นเคสที่ทำให้พี่มีความเชื่อว่า กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนที่ไม่ใช่ญาติเราแต่เขาสนใจเรา เป็นห่วงเรา มันก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น

            เมื่อเราถามพี่มินนี่ถึงการที่ได้มาทำงานตรงจุดนี้ได้อะไรกลับไปบ้าง พี่มินนี่บอกให้ฟังว่า น่าจะเป็นเรื่องของมุมมองความคิดมากกว่า ได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต อย่างที่บอกที่เราชอบคิดเปรียบเทียบว่าทำไมเราไม่มีโอกาสนั่นนี่ เราจะได้เห็นว่าชีวิตหนึ่งของเราที่ไม่เจ็บไม่ป่วยมันมีคุณค่าขนาดไหน เราได้ใช้ชีวิตอิสระ ได้กินอะไรที่อยากกิน ได้ทำอะไรที่อยากทำ แต่ในขณะเดียวกันเด็กที่ป่วยในโรงพยาบาลบางคนแม้อยากจะกินขนม น้ำอัดลม ก็ไม่ได้กิน เขาต้องถูกบังคับให้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต้องควบคุม มันทำให้เรารู้สึกว่าเราโชคดี



โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน  
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา


วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำบอกเล่าจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา

     กรวิกา ก้อนแก้ว หรือ พี่เก่ง เจ้าหน้าที่โครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงาเล่าให้เราฟังถึงตอนที่รู้จักมูลนิธิกระจกเงาครั้งแรกว่า ได้ยินชื่อมูลนิธิกระจกเงามาตั้งแต่ม.4 เพราะตอนนั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนในตัวจังหวัดเชียงราย ชื่อโครงการที่รู้จักโครงการแรกเลยคือ โครงการครูบ้านนอก ที่เชียงราย ตอนนั้นก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นครูบ้านนอกแต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไรจนเงียบหายไป มารู้จักมูลนิธิกระจกเงาอีกทีตอนที่พี่เจี๊ยบหัวหน้าโครงการ NGOs cyber มาฝึกงาน ช่วงที่ฝึกงานพี่เจี๊ยบฝึกในโครงการไอทีอยู่ที่สำนักงานเชียงราย แล้วพี่เจี๊ยบก็ได้เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งตอนนั้นมีตำแหน่งงานว่างอยู่เป็นตำแน่งการเงินของสำนักงานกรุงเทพ พี่เจี๊ยบก็ได้ไปประกาศบนเว็ปของรุ่นว่ามีใครสนใจไหม พี่ก็เลยมาสมัครในตำแหน่งการเงินแล้วก็เริ่มงานตั้งแต่ตอนนั้นมา เมื่อพูดถึงตำแหน่งหน้างานในปัจจุบัน พี่เก่งเล่าให้ฟังว่า ตนทำอยู่ในส่วนของโครงการโรงพยาบาลมีสุขมาได้ประมาณ 9 ปีแล้ว ในตัวโครงการโรงพยาบาลมีสุขจะเป็นงานที่ทำเกี่ยวกับอาสาสมัคร คือหมายถึงการระดมอาสาสมัครเข้าไปเพิ่มความ สุขลดความทุกข์ให้กับผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล ในส่วนของพี่ก็จะทำตั้งแต่กระบวนการคิดว่าจะยังไงให้เด็กมีความสุขเเล้วเมื่อเด็กมีความสุขมันก็จะส่งผลโดยอ้อมไปยังผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ยังไง ซึ่งก่อนที่จะทำโครงการโรงพยาบาลมีสุข ตัวพี่เก่งเองก็ต้องเข้าไปเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 ปี เพื่อเก็บข้อมูล ช่วงแรกๆที่ทำโครงการมันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะด้วยความที่เราเป็น NGO เขาก็จะกลัวว่าเราไปหาผลประโยชน์กับเด็กป่วยหรือเปล่า ทางเราเองก็ต้องพิสูจน์ไปเรื่อยๆ และทำให้สม่ำเสมอ พยายามคิดค้นกิจกรรมใหม่ๆที่จะสามารถช่วยได้จริงๆ เพราะเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจในโรงพยาบาลมันมีความต้องการสูงเพราะมันเป็นพื้นที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง การลงพื้นที่แต่ละครั้งเราก็ต้องมีไหวพริบ คอยสังเกตว่าเด็กแต่ละคนขาดหรือต้องการอะไรเราก็ต้องวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์ได้เราก็ต้องกลับมาออกแบบกิจกรรมว่ากิจกรรมควรจะเป็นแบบไหน
      ฝากข้อคิดถึงอาสาสมัคร
พี่คิดว่าอาสาสมัครเป็นงานของผู้ที่มาให้ เมื่อก่อนพี่ก็คิดแบบนี้ แต่จริงๆคือเราได้รับด้วยนะ คือเราได้เรียนรู้ชีวิตคน เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านชีวิตคนเพราะว่าในโรงพยาบาลมีตั้งแต่คนจนยันคนรวยแต่พอเจ็บป่วยมาทุกคนก็เหมือนกันหมด มีความต้องการเหมือนกันหมด คือต้องการกำลังใจ ต้องการเพื่อน ต้องการความห่วงใย ซึ่งในโรงพยาบาลเองก็ยังมีคนมาเป็นอาสามัครน้อยก็อยากให้คนมาทำในส่วนนี้เยอะๆเอาทักษะของเราที่เราถนัดมาช่วยผลักดันงานตรงนี้ การที่พี่ได้มาทำงานตรงนี้พี่คิดว่าเรามองชีวิตตัวเองละเอียดขึ้นนะ มีความเข้าใจคนมากขึ้นว่า ทำไมเขาต้องโวยวาย ทำไมเขาต้องทำแบบนี้ แต่พอได้ไปอยู่ตรงนั้นมันทำให้เราเข้าใจว่า ทุกอย่างมันมีที่มานะ คนจะแสดงพฤติกรรมแบบนั้นได้มันมีที่มาที่ไปหมด ต้องรู้จักเข้าใจความทุกข์และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้






โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา


วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำบอกเล่าจาก นศ.ฝึกงาน

          นางสาวถิรนันท์ ช่วยมิ่ง หรือกุ๊งกิ๊ง นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกจิตวิทยามหาวิทยาลัยบูรพา นักศึกษาอีกหนึ่งคนที่เลือกมาฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา เธอบอกถึงเหตุผลที่มาฝึกงานที่นี่ว่า ได้ฟังการนำเสนอจากรุ่นพี่ แล้วรู้สึกประทับใจ เพราะจะได้ลงพื้นที่ ได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ที่มากกว่าการทำงานในออฟฟิศ เธอเล่าให้เราฟังว่า ได้ทำในส่วนหน้างานของโครงการผู้ป่วยข้างถนน งานหลักๆที่ทำก็จะเป็นการลงพื้นที่พบผู้ป่วยและนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา ก็จะมีการพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อขอทราบประวัติและเกลี้ยกล่อมให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัว อีกหน้าที่หนึ่งก็จะเป็นการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่สถานสงเคราะห์ต่างๆ 
               กุ๊งกิ๊งบอกต่อว่า เคสที่ได้ไปลงพื้นที่แล้วรู้สึกประทับใจก็คือเคสแรกเลย เพราะมาฝึกงานวันแรกก็ได้ลงพื้นที่เลย แล้วเป็นเคสที่ค่อนข้างป่วยหนัก ผู้ป่วยนอนอยู่ข้างถังขยะ หายใจอิดโรย ทันทีที่ไปถึงหัวหน้าโครงการก็เข้าไปพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ป่วยและเกลี้ยกล่อมให้ไปรักษาตัว คำถามที่สำคัญของหัวหน้าโครงการคือ "ไปรักษาตัวนะ จะได้หายเจ็บ" ทันทีที่ผู้ป่วยตอบตกลงเราก็ติดต่อรถเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลกว่าที่คุณหมอจะยอมนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา กว่าผลตรวจจะออก ก็เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ซึ่งทำให้การลงพื้นที่ครั้งแรกของเรา ทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการผู้ป่วยข้างถนนเลยในทันที เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้จากการฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา กุ๊งกิ๊งบอกว่า มูลนิธิกระจกเงา คือกระจกใบใหญ่ที่สะท้อนอีกมุมของสังคม มุมที่ยังมีคนต้องการความช่วยเหลือ ทำให้พวกเราได้เห็นโลกใบใหม่แต่ไม่ใช่แค่เห็น มูลนิธิกระจกเงายังพาเราเข้าไปสัมผัส มูลนิธิกระจกเงาไม่ได้สอนแค่การทำงานแต่ยังสอนการใช้ชีวิตและสิ่งสำคัญที่สุดคือการสอนให้เห็นคุณค่าของคำว่า 'ให้' สอนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สอนให้ช่วยเหลือสังคมมันคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะทุกคนในมูลนิธิกระจกเงาเชื่อว่าสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับและรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มากคือ 'มิตรภาพ' เป็นมิตรภาพที่ประทับใจที่สุดในชีวิต ทั้งเพื่อนที่ฝึกงานด้วยกันและพี่ๆเจ้าหน้าที่ทุกคน เราใช้เวลารู้จักกันเพียงไม่นานแต่เรารู้สึกเหมือนรู้จักกันมาเป็นปี ทุกคนรักและเอ็นดูซึ่งกันและกัน ยามที่พวกเราเหนื่อย ก็จะคอยมีกำลังใจ รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้กันเสมอ มิตรภาพที่ได้รับจึงเป็นของขวัญที่มีค่าและนับเป็นความโชคดีที่สุดในชีวิต
               ข้อความที่อยากฝากถึงน้องๆ 
คำว่า 'ฝึกงาน' ที่อื่นอาจจะได้แค่ การจำลองชีวิตการทำงานผ่านออฟฟิศหรือบริษัท แต่สำหรับมูลนิธิกระจกเงา จะเป็นการจำลองชีวิตหารทำงานผ่านสังคมจริงๆ ผ่านโลกกว้างและไม่ใช่แค่มองเห็น แต่เรายังได้เข้าไปสัมผัสกับความจริงอีกมุมหนึ่งของสังคม มูลนิธิกระจกเงาทำให้เรามีภูมิคุ้มกันกับความกลัวและความเหนื่อย ทำให้เรารู้จักทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง พอก้าวเข้ามาในมูลนิธิกระจกเงาแล้ว เราจะภูมิใจในคำว่า 'นักศึกษาบ้าฝึกงาน'




โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา






คำบอกเล่าจาก นศ.ฝึกงาน

            น.ส.อาภาพร  สุวรรณะ หรือ แอ๋น นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขา การพัฒนาสังคม ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าให้ฟังถึงเหตุผลของการมาฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงาว่า เธอรู้จักและได้ยินชื่อมูลนิธิกระจกเงามานานแล้วตั้งแต่เรียนมัธยม เพราะเป็นองค์กรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเด็กหาย เรื่องสังคม ก็ค่อนข้างตรงกับสายที่ตนเรียนมาคือ สายพัฒนาสังคม คิดว่าน่าจะได้ประสบการณ์เยอะ ส่วนหนึ่งก็เป็นความฝันด้วยว่าต้องมาที่นี่ให้ได้ ถึงจะไกลแค่ไหนก็อยากมาเพราะมันเป็นความฝันของเรา แอ๋นได้เล่าเกี่ยวกับหน้างานที่เธอได้ทำคือ โครงการอาสามาเยี่ยมให้เราฟังว่า ตอนแรกก่อนที่จะมาฝึกงานโครงการอาสามาเยี่ยมไม่ได้อยู่ในลิสที่เราจะเลือกเลย แต่พอมาฝึกงานจริงๆก็ปรึกษากับพี่สุกี้ว่าจะฝึกโครงการไหนที่จะตรงกับสายที่เรียนมาโดยตรง ตอนนั้นมีให้เลือกอยู่สองโครงการคือ โครงการโรงพยาบาลมีสุขและโครงการอาสามาเยี่ยม เธอก็ตัดสินใจเลือกโครงการอาสามาเยี่ยมเพราะคิดว่าน่าจะได้ลงพื้นที่บ่อยและตรงกับสายที่เธอเรียนมาที่สุด เธอเล่าให้ฟังต่อว่า ฝึกในโครงการอาสามาเยี่ยม รู้สึกประทับใจกับทุกเคสที่ไป แต่จะมีอยู่เคสนึงที่ประทับใจมากคือเคสของ คุณย่าอารมณ์ดีที่ดูแลลูกชายที่นอนป่วยอยู่ เวลาไปลงพื้นที่แกจะอารมณ์ดีมากจะมีมุกตลกเสมอ และตอนที่ไปลงพื้นที่แกก็จะมีของดีให้เป็นธงชัยอันเล็กๆเป็นของมงคลเอามาให้เรา แอ๋นบอกกับเราว่า แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดเวลาไปลงพื้นที่คือ “รอยยิ้ม” รอยยิ้มของพวกเขาเป็นเหมือนพลังไฟที่คอยชาร์ตใจเราให้สู้ต่อ...
            เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้มาฝึกงานที่นี่ แอ๋นได้เล่าว่า ตอนแรกที่มาฝึกงานคือกังวลเรื่องเพื่อนมาก เพราะมากับเพื่อนแค่สองคนกลัวว่าจะเข้ากับใครไม่ได้ แล้วก็กังวลเรื่องหัวหน้าโครงการก็กลัวว่าจะเข้ากับเขาไม่ได้ แต่พอมาจริงๆ คือเล่นกันแบบเป็นพี่เป็นน้อง มันก็เลยทำให้เรามีความสุขในเรื่องของการทำงานด้วย มีความรู้สึกว่า ที่นี่ไม่เหมือนที่ฝึกงานแต่เป็นเหมือนโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อนที่มาฝึกงานก็เป็นเหมือนเพื่อนใหม่ของเรา มันเหมือนเป็นคลาสคลาสหนึ่ง อาจเป็นเพราะมีเด็กฝึกงานเยอะด้วย เราก็เลยรู้สึกอย่างนั้น  ที่นี่มีมากกว่าความสนุกบางทีเราได้ประสบการณ์ได้แนวคิดต่างๆกลับไปด้วย
          
              ข้อความที่อยากฝากถึงรุ่นน้อง
   มูลนิธิกระจกเงาเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าที่ให้เราได้มาเลือกซื้อสินค้า ทั้งในเรื่องของสังคม ความหลากหลายของกลุ่มคน ความหลากหลายของงาน ทั้งหน้างานของเพื่อนและของเราเอง ถ้าใครได้มาฝึกงานที่นี่หรือมีโอกาสได้มาที่นี่จะดีมาก เอาง่ายๆก็คือที่เดียวคุ้ม





โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา
                                                                                                     


                                                                                                               



วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำบอกเล่าจาก นศ.ฝึกงาน

                ทางมูลนิธิกระจกเงา มีโครงการ นักศึกษา(บ้า)ฝึกงาน ซึ่งเราเปิดรับนักศึกษาฝึกงานจากทุกที่ เพราะเราต้องการกำลังเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับองค์กร ทุกๆ ปี มูลนิธิกระจกเงาจะมีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเราก็มีหนึ่งคำบอกเล่าจากเพื่อนนักศึกษาฝึกงานที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝึกงานให้ได้ฟังกัน
            คนแรกคือ น.ส. เหมวรรณ มงคล หรือ แก้ม นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขา นิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้บอกเล่าถึงเหตุผลที่มาฝึกงานที่นี่ว่า ได้ฟังการแนะแนวจากพี่สุกี้ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกระจกเงา ที่ได้ไปแนะแนวเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรให้ฟังที่มหาวิทยาลัย แก้มได้พูดถึงส่วนของหน้างานที่ได้ทำคือ การประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็ได้ทำตรงกับสายที่ตนเรียนมา แต่ก็มีส่วนได้ไปช่วยเหลืองานในส่วนของโครงการอื่นๆด้วย เช่น โครงการอาสามาเยี่ยม ที่จะได้ลงไปเยี่ยมคนชราตามบ้าน นำของใช้ และอาหารแห้งไปให้ รวมไปถึงโครงการแบ่งปัน ที่เราจะได้ไปช่วยแยกของจากผู้ที่มาบริจาค เธอยังเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ประทับใจตอนที่ได้ไปลงพื้นที่กับโครงการอาสามาเยี่ยม เป็นเคสของคุณตากับคุณยายที่อยู่กันสองคน คุณตาจะเป็นคนที่คอยป้อนข้าวคุณยายทุกครั้ง ทั้งมื้อเช้า กลางวัน เย็น ซึ่งคุณตาก็ป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ลักษณะก็ไม่ได้เหมือนกับคนป่วย เพราะคุณตามีกำลังใจที่อยากจะดูแลคุณยายด้วยความรัก เธอยังได้เล่าต่ออีกว่า แต่ละเคสที่ได้ไปก็จะทำให้รู้สึกมีกำลังใจ ทุกครั้งที่ได้ไปก็จะได้รับกำลังใจกลับมาเหมือนว่าเราไปมอบให้เขาเราก็ได้รับกลับมาด้วย
           
            ข้อความที่อยากฝากถึงรุ่นน้อง
                        ฝากถึงน้องๆที่ไม่ชอบทำงานในออฟฟิศ ชอบงานลุยๆ ก็แนะนำให้มามูลนิธิกระจกเงา เราจะได้เพื่อนเยอะ เพื่อนที่นี่ก็จะนิสัยเป็นกันเอง สนิทกันเร็ว เรามาที่นี่เราไม่ได้ฝึกงานแค่ในสายงานที่เราเรียนมา แต่เราได้อะไรหลายๆอย่างกลับไปจากทุกๆโครงการที่มูลนิธิกระจกเงา








                                                            โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน 
นักศึกษาฝึกงานมูลนิธิกระจกเงา



วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

กีฬาสีกระจกเงา 2557

"บนทางเดินที่มีขวากหนาม ถ้าเธอคร้าม ถอยไปฉันคงเก้อ ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ เพียงตัวเธอ ไม่หนีไปเสียก่อน" 
กีฬาขอบคุณกองกำลัง นักศึกษาฝึกงาน 103 คน จากหลายสถาบันการศึกษา ที่มาร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคมกับเราในเทอมนี้ครับ พวกเขาเบื้องหลัง กองหนุน กองเสริม กองหน้า ในภารกิจงานของเรา พวกเขาคือส่วนหนึ่งของ มูลนิธิกระจกเงาครับ












 นักศึกษาฝึกงานมูลนิธิกระจกเงา

วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

มันเป็นความเหงาเศร้าหดหู่อย่างบอกไม่ถูก พ่อนั่งมองควันจากปลายเมรุล่องลอยไปบนฟ้ามองลูกที่กำลังไปอยู่บนนั่น มองความหลังที่เจ็บปวด มันเป็นความเศร้าเพียงลำพัง เหมือนวันแรกที่เขาออกตามหาลูกหลังจากตำรวจกลับไปแล้วในวันแรกที่เขาไปแจ้งความลูกหาย เขาปั่นจักรยานเก่าๆ ออกตามหาลูกตามลำพัง จนไปนั่งร้องไห้อยู่หน้าร้านขายของชำแห่งหนึ่ง ชาวบ้านย่านนั้นสงสารรีบพาเขากลับไปโรงพัก เพื่อแจ้งความและตามเรื่องอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีใครออกมาช่วยตามหาลูก ชาวบ้านไม่ยอมแพ้ โทรมาแจ้งที่มูลนิธิกระจกเงา หลังจากนั้นตำรวจหลายหน่วยและนักข่าวเริ่มช่วยกันติดตามหา ตอนผมคุยกับตำรวจระดับผู้ใหญ่ ไม่มีใครทราบว่ามีเด็กหายเคสนี้เลย -- ผมก็เจ็บปวด ผมจำได้ว่า เคยมีข่าวว่าถ้าเด็กหายต้องรายงานด่วนไปยังตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ต้องรายงานไปศูนย์คนหายของตำรวจ แสดงว่ามันไม่มีอยู่จริง หรือชีวิตของเด็กต่างด้าวมันเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไป กล้องทีวี กล้องถ่ายภาพมากันล้นหลาม ในวันที่เอาสุนัขมาดมหาศพน้องในพื้นที่ มันเป็นการตรวจค้นที่ไม่ละเอียดเลย และไม่พบอะไรในครั้งแรก จากนั้นเหลือกล้องไม่กี่ตัวที่ยังตั้งคำถามและช่วยติดตามน้องอยู่ -- ผมสงสัยว่าถ้าไม่พบศพอันเป็นข่าวการตาย การติดตามหาเด็กที่กำลังหายอยู่จะสามารถเป็นข่าวได้มั้ย ? ผมเขียนข้อสังเกตุ เกือบสิบข้อ ไปถึงตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เรื่องการค้นหาเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่ แต่ปรากฏว่าข้อเสนอนั้น ไม่ได้รับการตอบกลับ จนผมประสานไปยังตำรวจหน่วยงานหนึ่ง แล้วออกติดตามค้นหากันในพื้นที่กันอีกครั้ง สุดท้าย ศพน้องถูกอำพรางอยู่ในพื้นที่ ตอนนี้มีเพียงผู้สงสัย และไม่มีใครรับสารภาพ คนร้ายยังลอยนวล ตอนเหตุการณ์เด็กหายเสียชีวิตถึง 3 รายเมื่อปีที่แล้ว มีแต่คนบอกว่าขอให้เป็นรายสุดท้าย เหมือนเรื่องนี้เป็นวาระที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ --- สุดท้ายพ่อแม่เด็กหายก็เดียวดายอยู่ดีเดียวดายในจุดเริ่มต้นและวาระสุดท้าย เป็นงานศพที่เงียบเหงาเดียวดายที่สุด เท่าที่ผมเคยเห็น. 


วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

ความรู้สึกของ นศ.ฝึกงาน


          ฉันได้ไปลงพื้นที่กับโครงการผู้ป่วยข้างถนน เคสที่ได้ไปให้การช่วยเหลือนั้น ผู้ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน เธอชื่อแคท อายุประมาณ 30 ปี โรคสะเก็ดเงินกำเริบหนักขึ้น จนทำให้เธอเป็นอัมพฤกษ์ช่วงล่าง ช่วยเหลือตัวเองได้เพียงแค่หยิบจับสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว นอกจากที่เธอจะโดนโรคสะเก็ดเงินทำร้ายร่างกาย และแผลกดทับที่ทำให้เธอขยับตัวในแต่ละครั้งด้วยความเจ็บปวด เธอยังโดนทำร้ายทางใจ คือการถูกคนที่รักทอดทิ้ง โดยนำเธอมาทิ้งไว้ที่บ้านของคนที่อุปการะเธอตั้งแต่เด็กๆ เธอถูกแฟนทิ้งได้สามเดือนแล้ว และเป็นสามเดือนที่เธอต้องทนทุกข์อยู่กับโรค เธอเป็นเด็กกำพร้ามาตั้งแต่เด็ก ผู้อุปการะเธอเลี้ยงดูเธอตามยถากรรม เธอร้องไห้ทุกครั้งที่เล่าเรื่องราวชีวิตของเธอที่ผ่านมา


          เมื่อเราเดินทางมาถึงก็พบเธอนอนอยู่บนเตียงกับร่างอันผอมบาง รอบๆเตียงและบนที่นอนมีแต่สะเก็ดผิวหนังที่หลุดลอก และถ้วยชามทั้งเก่าและใหม่วางทิ้งเอาไว้ เมื่อเธอเห็นพวกเรามาถึง เธอก็ร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจ เธอบอกว่าในตอนแรกเธอหมดสิ้นกำลังใจแล้ว แต่เธอก็ยังมีความหวังว่ามูลนิธิกระจกเงา จะเข้ามาช่วยเหลือเธอ สีหน้าที่เบิกบาน และรอยยิ้มของเธอแสดงออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน

          ฉันเข้าไปพูดคุยพูดเล่นกับเธอ ทุกครั้งที่เธอยิ้มและหัวเราะ มันทำให้ฉันต้องยิ้มตาม เธอเป็นคนสวย และมีรอยยิ้มที่สวยงาม ฉันได้แต่คิดในใจว่าเรื่องแบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับเธอเลย ฉันรู้สึกว่าการที่เราได้เข้าไปให้การช่วยเหลือ และเป็นกำลังใจให้เธอนั้น ในทางกลับกันรอยยิ้มของเธอก็เป็นกำลังใจให้กับฉันและพี่ๆทุกคน ให้มีแรงใจในการทำงานต่อไป มันเป็นรอยยิ้มที่ฉันรู้สึกประทับใจมากๆ การมาช่วยเหลือผู้ป่วยในเคสนี้แล้วนอกจากคำขอบคุณที่เธอมอบให้แก่พวกเราแล้ว ฉันก็ต้องขอบคุณที่เธอมอบรอยยิ้มแห่งความสุขนั้นส่งกลับมา ทำให้พวกเรามีกำลังใจในการทำงาน และลืมความเหนื่อยล้าไปได้เลย



อรอนงค์ พิริยะวณิชย์
นิสิตชั้นปีที่3 นิเทศศาสตร์ ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยบูรพา
นศ.ฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

ความรู้สึกของ นศ.ฝึกงาน

          ในการลงพื้นแต่ละครั้ง สิ่งที่ได้รับกับมาในแต่ละครั้งมันมีความหมายมาก บางเรื่องสอนให้เราเข้มแข็ง บางเรื่องทำให้เรามีกำลังใจในการทำอะไรหลายๆอย่างให้ประสบความสำเร็จ

          และในครั้งนี้ก็เช่นกัน กับรักแท้ของคุณตาและคุณยาย ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมากว่า 60 ปี ช่วงหลายปีมานี้ที่คุณยายความจำไม่ดีเหมือนเช่นเดิม คุณตา ก็ใช้ชีวิตดูแลคุณยายอย่างไม่ห่างกายมาโดยตลอด
          "ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาไม่เคยทะเลาะกันเลย" คุณตาเล่าไปหัวเราะไป ทำให้เราเห็นถึงความรักที่คุณตามีให้คุณยาย ทุกๆ มื้ออาหารคุณตาจะป้อนข้าวให้คุณยายกินก่อนทุกครั้ง คุณตาบอกว่าถ้าไม่ป้อนยายก็ไม่กิน

          เมื่อหันไปเห็นจานข้าวคุณตา เราก็ถามคุณตาว่า ทำไมคุณตาถึงยังไม่กินข้าว คุณตาตอบกลับมาว่า รอให้เขาอิ่มก่อนแล้วเราค่อยกินทีหลัง
ความรักที่คุณตามีให้คุณยายช่วยสอนให้เราเข้าใจอะไรในหลายๆอย่าง ความรักและกำลังใจที่มีจากคุณยายทำให้คุณตาเข้มแข็ง และอยากที่จะอยู่เพื่อดูแลคุณยายตลอดไป

          นอกจากอาหารและอากาศ ความรัก และกำลังใจ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ สามารถช่วยให้คนๆหนึ่งมีกำลังใจและแรงผลักดันที่จะสู้กับเรื่องราวร้ายต่างๆ ได้




เหมวรรณ มงคล นิสิตภาควิชานิเทศศาสตร์ ม.บูรพา
นศ.ฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา

วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

มูลนิธิกระจกเงา รับบริจาคแสตมป์

โครงการ  “อ่านสร้างชาติ”  มูลนิธิกระจกเงา  ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในภารกิจของการส่งเสริมการอ่าน  ด้วยการเปิดรับบริจาคหนังสือดีเพื่อกระจายส่งมอบต่อไปยังห้องสมุดของโรงเรียนขนาดเล็ก  และชุมชนที่ขาดแคลน ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด  เราได้รับความร่วมแรงร่วมใจ จากผู้บริจาคหนังสือดี และ อาสาสมัคร ช่วยกันบริหารจัดการหนังสือผ่านกิจกรรม อาสาสมัคร คัด- คีย์- แพ็ค 

ในขั้นตอนของการส่งมอบหนังสือเราใช้วิธีจัดส่งทางพัสดุติดแสตมป์ส่งทางไปรษณีย์ซึ่งขั้นตอนนี้มีความจำเป็นต้องใช้แสตมป์ในการจัดส่งหนังสือครับ จึงขอประชาสัมพันธ์ในส่วนของการร่วมบริจาคสามารถร่วมบริจาคแสตมป์  ดวงละ 3,5,10 บาท  ส่งเสริมการอ่านให้กับเยาวชน  เด็ก และผู้ใหญ่  ได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือดีครับ  เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างกว้างขวาง  #อ่านเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ที่อยู่ในการจัดส่งทาง ไปรษณีย์   มูลนิธิกระจกเงา (บริจาคแสตมป์เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี62 แยก4-7  ถนน วิภาวดีรังสิต แขวตลาดบางเขน  เขตหลักสี่ กทม.10210




วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ระบบกลไกช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน



ระบบกลไกการช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนนในวันนี้...
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

-ประชาชนทั่วไปเมื่อเห็นผู้ป่วย //จะแจ้งใครดี ????

-ตำรวจเมื่อได้รับแจ้งจากประชาชนเมื่อเจอผู้ป่วย // จะทำอย่างไงดี เอาไปที่ไหนดี ไปโรงพยาบาลบางที่ก็ไม่รับเพราะไม่มีญาติ

-อาสากู้ภัยเมื่อได้รับแจ้งผู้ป่วยข้างถนน // อยากรับแต่ก็กลัวๆเพราะไม่มีทักษะเครื่องมือในการควบคุมผู้ป่วยจิตเวช ทั้งความปลอดภัยและข้าวของในรถเสียหาย

-พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.สุขภาพจิตซึ่งมีหน้าที่มีเครื่องมือและทักษะเฉพาะในการควบคุมตัวผู้ป่วยออกจากพื้นที่ // ยังไม่มี

-โรงพยาบาลจิตเวชเมื่อได้รับผู้ป่วยข้างถนน // ในบางครั้งถึงขนาดปฎิเสธการรับรักษา เนื่องจากข้ออ้างผู้ป่วยไม่มีญาติ กระบวนการส่งกลับบ้านเมื่อผู้ป่วยสิ้นสุดการรักษามีปัญหาการละเอียดรอบคอบและการตรวจสอบสภาพบ้านสภาพครอบที่อยู่ปัจจุบันของผู้ป่วยว่ามีจริงมั้ยและครอบครัวมีสภาพแบบใด

-สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งภาครัฐเมื่อได้รับให้บริการผู้ป่วยข้างถนน // สถานสงเคราะห์มีจำนวนผู้รับบริการที่ล้นเกินขีดจำกัดของการให้บริการ อัตราส่วนของเจ้าหน้าที่กับผู้รับบริการมีสัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 50 ทำให้การดูแลและกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไม่สามารถเป็นไปได้จริง

น่าตกใจอยู่ใช่มั้ยครับและไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมผู้ป่วยข้างถนนถึงพบได้ทุกๆ 2 กิโลเมตร

#ระบบกลไกช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน #ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

อีกรุ่นผ่านไปกับ นักศึกษาฝึกงานโครงการ ngoscyber ปี 2556 มีพบก็ต้องมีจากก่อนจากเรามีการถอดบทเรียน นักศึกษาฝึกงาน ซึ่งจะทำกันทุกๆรุ่น

อีกรุ่นผ่านไปกับ นักศึกษาฝึกงานโครงการ ngos cyber ปี 2556 มีพบก็ต้องมีจาก แต่ก่อนจากเรามีการถอดบทเรียน นักศึกษาฝึกงาน ซึ่งจะทำกันทุกๆรุ่น และรุ่นนี้ก็เป็นการถอดบทเรียนเหมือนทุกรุ่นที่ผ่านมา สิ่งที่ได้ได้เสียงสะท้อนจากนักศึกษาฝึกงานในการฝึกงานที่นี่ ที่มูลนิธิกระจกเงา

เริ่มต้นส่วนใหญ่นั้นน้องๆ หลายๆ คน ที่มาอาจจะไม่เหมือนกัน บ้างก็มาจากรุ่นพี่แนะนำ เพื่อนแนะนำ หาที่ฝึกไม่ทัน เปลี่ยนที่ฝึกกระทันหัน ตั้งใจมาฝึกที่นี่โดยเฉพาะ ค้นเจอในอินเตอร์เน็ต แต่นั้นก็ไม่สำคัญสำหรับเราว่าจะนักศึกษาจะมาฝึกงานที่นี่ด้วยสาเหตุอะไร สิ่งที่พวกเราคิดว่าสำคัญคือ เมื่อน้องๆ มาฝึกงานที่นี้เขาจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเรา และเราจะได้อาสาสมัครในรูปนักศึกษาฝึกงานมาช่วยขับเคลื่อนงานองค์กรของเราให้เดินหน้า นักศึกษาฝึกงานก็เหมือนเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันงานหลายๆส่วนขององค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

ส่วนเสียงที่น้องๆ สะท้อนออกมา หลังจากได้ฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงามาได้ระยะเวลาหนึ่ง บ้างก็ 3 เดือน บ้างก็ 4 เดือน เวลาเหมือนจะนานแต่แป๊บๆ เวลาผ่านไปไวมาก แต่ละวัน แต่ละเดือน เวลาเดินไปไวมากๆ

 น้องๆ หลายคนบอกกับเราว่าดีใจที่ได้มาฝึกงานที่นี่ สิ่งที่พวกเขาได้รับ นอกจากความรู้ในด้านเทคนิคเกี่ยวกับสายงานที่เรียนมาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้คือมิตรภาพ ไม่ว่าจะจากพี่ จากเพื่อน มันเป็นมิตรภาพที่มีความรู้สึกผูกพันธ์กันมากในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือน ความเป็นอิสระ สบายๆ เป็นตัวของตัวเอง และอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้คือสังคม หลายๆ คนบอกว่า มุมมองของตนเองในด้านสังคมของเขาเปลี่ยนไป ข้อนี้เราคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นแสดงว่าเรามีคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสังคม กับเพื่อนร่วมสังคมเพิ่มขึ้น

ประโยคนี้เป็นบางประโยคที่น้องๆ ได้บอกกับเราไว้ในมุมมองด้านสังคมที่พวกเราได้เรียนรู้จากการฝึกงานที่นี่นอกเหนือจากประสบการด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่เรียนมา

"จากประสบการณ์การลงพื้นที่กับโครงการอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับหน้างานที่เรียนมา ได้มาเห็นเบื้องหลังของภาพที่แชร์ในเพจ facebook ขององค์กร ได้รู้ว่าแต่ละภาพนั้นไม่ได้มาง่ายๆ แต่มันมาจากการทำงานจริงๆ"

"ได้เรียนรู้ได้ประสบการณ์ในการไปลงช่วยงานโครงการอื่น "

"ประทับใจความสัมพันธ์ภายในองค์กร เหมือนพี่เหมือนน้อง ดูเป็นกันเอง และรู้สึกดี ที่ได้ทำอะไรหลายๆอย่าง ได้ลงพื้นที่ร่วมกับโครงการอื่นๆ ได้เกิดมุมมอง ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ทำให้มุมมองในสังคมเปลี่ยนไป "

"เปลี่ยนมุมมองด้านสังคมเยอะเหมือนกัน เช่นผู้ป่วยข้างถนน ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเขาคือคนบ้า แต่พอได้ไปลงพื้นที่ครึ่งหนึ่งแล้วทำให้สัมผัสได้ว่า เขาไม่ใช่คนบ้าเขาก็คือคนเหมือนกัน เพียงแต่เขาเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งเท่านั้นเอง"




ภาพประกอบอาจจะไม่ครบทุกคน และมี นักศึกษาฝึกงานโครงการอื่นๆ ด้วย เพราะมิตรภาพที่น้องๆได้รับคือเพื่อนนักศึกษาฝึกงานด้วยกันถึงแม้จะฝึกอยู่คนละโครงการก็ตามค่ะ

By พี่เจี๊ยบ NgosCyber

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

อ่านสร้างชาติ

    โครงการอ่านสร้างชาติได้ดำเนินการนำ ตู้หนังสือเย็นๆ  ที่ได้ทำการดัดแปลงจากตู้เย็นที่ไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้ให้เกิดประโยนช์ โดยการนำ ตู้เย็น ที่ได้จากการบริจาค มาใส่ชั้นวางที่เป็นไม้ ตกแต่งสีภายนอกให้ดูสวยงาม โครงการอ่านสร้างชาติได้นำ ตู้หนังสือเย็นๆ นี้ไปวางให้ผู้คนทั่วไปได้หยิบหนังสือมาอ่านกันได้แล้วนะครับ 


นี้ก็เป็นภาพส่วนหนึ่งที่ได้นำ ตู้หนังสือเย็นๆ ไปลงพื้นที่มาครับ



















วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ที่พึ่ง...

ที่พึ่ง...



เช้าตรู่ชาวบ้านชนเผ่าครอบครัวหนึ่ง ในชุมชนในชุมชนที่ไม่อยากไกลนักจากมูลนิธิ 
เธอเดินทางมารอพบ เจ้าหน้าที่ของเราเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องดวงตาของเธอ 
เมื่อ 4 วันก่อนเธอประสบอุบัติเหตุจากการทำงานตัดกระเบื้อง เศษของใบตัดแตกกระเด็นเข้าดวงดาของเธอ หมอบอกว่าไม่สามารถรักษาได้แล้วต้องเสียดวงตาข้างนั้นไป ทุกข์ของชาวบ้านแบบนี้มีเกือบทุกวันเพราะบริบทของกลุ่มชนเขาที่ต้องเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองใหญ่...


บทความและภาพประกอบด้านบนนั้นเป็นอีกมุมมองหนึ่ง ของกระจกเงาเชียงราย 

วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

นศ. บ้าฝึกงาน .........


"นศ. บ้าฝึกงาน" คำคำนี้มักจะได้ยินจากน้องๆ นศ. ฝึึกงาน ที่เลือกมาฝึกงานที่มูลนิธิกระจก ด้วยการค้นเจอในอินเตอร์เน็ตแล้วมาสะดุดกับคำ คำนี้ "นศ. บ้าฝึกงาน"

นักศึกษาฝึึกงานสำหรับ มูลนิธิกระจกเงานั้น เราถือว่าเป็นอาสาสมัครสำหรับกระจกเงาด้วย
เพราะว่านอกจากน้องๆ นศ.ฝึกงาน จะได้ฝึกงานในสายงานที่ตนเองเลือกที่จะลงฝึกงานแล้ว
น้องๆก็ยังเป็นกำลังเสริมของ จนท.ได้หมุนเวียนไปช่วยกิจกรรมอื่นๆขององค์กรด้วย

ที่กระจกเงาเรามีหน้างานหลายโครงการที่ต้องใช้กำลังคนในการลงพื้นที่ หรือใช้กำลังคนในการจัดการ ในขณะที่ จนท.ของเราเอง มีแผนกหนึ่งไม่เกิน 4คน บางโครงการมี. จนท.เพียงคนเดียว บางโครงการมีเยอะขึ้นมาหน่อย 2คน ^^"
ดังนั้นในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน หรือช่วง Summer จึงเป็นช่วงนาทีทองที่มีกำลังคนมาช่วยหนุนเสริมเราเป็นอย่างดี

ทุกๆวันตอนเย็นเวลา4โมงเย็นที่กระจกเงาจะมีชั่วโมงลงแรง หรือชั่วโมงอาสา หรือน้องๆบางคนแอบเรียก ชั่วโมงฟิสเนส ให้ นศ.ฝึกงาน และเจ้าหน้าที่มารวมตัวกันเพื่อลงมือลงแรงทำหน้างานที่ต้องใช้กำลังคน

น้องๆหลายๆคนบอกว่าไม่เคยทำอะไรแบบนี้ แต่ตอนทำเรามาทำช่วยกันทำแป๊บเดียวก็เสร็จก็สนุกไปอีกแบบ
แต่ช่วงไหนคนน้อยก็เล่นเอาอวมกันไปตรมๆกันทั้งพี่ทั้งน้อง ^^"

ภาพประกอบด้านล่างนี้บังเอิญไปเปิดเจอใน Facebook เป็นภาพที่น้องๆนศ. ฝึกงานในช่วง Summer ของปี 2555ที่กำลังช่วยกัน ทำความสะอาดและทาสีห้อง ในช่วงที่มูลนิธิกระจกเงาเพิ่งย้ายมาอยู่ที่วิภาวดี62ใหม่ๆ มองแล้วก็ชื่นใจ น้องๆ ทำไปยิ้มไป หัวเราะไปทั้งๆที่งานช่วงนั้นทั้งร้อนและเหนื่อย ^^"

แต่นอกเหนือจากกิจกรรมลงแรงแล้ว เราก็ยังมีกิจกรรมสันทนาการอื่นๆสำหรับ นศ.ฝึกงาน. รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมให้น้องๆได้เล่นกีฬาสานความสัมพันธ์และเพื่อสุขภาพด้วย เดี๋ยวจะหาภาพตัวอย่างมาให้ได้ดูกัน




นศ. ฝึกงานภาคฦดูร้อน ปี 2555

.............

มาเพิ่มเติมส่วน ตัวอย่าง กิจกรรมอื่นๆที่น้องๆ นศ ฝึกงานของเราได้ร่วมทำกันค่ะ ^^

ภาพนี้เป็นภาพกิจกรรมชั่วโมงลงแรง ตอน 4 โมงเย็น จะมีทั้งพี่และน้องๆนศ ฝึกงาน มาช่วยกันทำกิจกรรมที่เรียกว่าลงแรง ซึ่งกิจกรรมแต่ละวันนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างภาพด้านล่างนี้เป็นภาพที่ทุกคนระดมแรงมาช่วยกันคัดแยกหนังสือ แบ่งประเภทหนังสือ เพื่อคัดหนังสือดีให้น้องๆที่อยู่ต่างจังหวัดได้อ่านกัน หรือเป็นหนังสือที่หมุนเวียนไปไว้ที่จุดบริการตู้หนังสือเย็นๆ ตามวินมอเตอร์โซต์ของโครงการอ่านสร้างชาติ งานนี้ก็ได้ได้ทั้งเหงื่อและมิตรภาพที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
นศ. ฝึกงานภาคฦดูร้อน ปี 2556

ส่วนภาพด้านล่างนี้ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น้องๆ ให้ความร่วมมือร่วมใจกันในการช่วยประชาสัมพันธ์ร้านแป่งปันของมูลนิธิกระจกเงาให้บุคคลในชุมชนที่อยู่ใกล้เคืองเราได้รู้จัก อยากบอกว่าชุดสีสันโดนใจมากค่ะ ถึงแม้อากาศจะร้อน แต่เห็นรอยยิ้มของทุกคนแล้วบ่งบอกได้ว่าทุกคนมีความสุขที่ได้ทำ ^^

นศ. ฝึกงานภาคฦดูร้อน ปี 2556

ส่วนด้านล่างสองภาพนี้เป็นภาพกิจกรรมที่น้องๆ นศ.ฝึกงานได้ทำกิจกรรมสันทนาการตอนเย็นในชั่วโมง นศ.ฝึกงาน กันสนุกสนาน กันเลยทีเดียวค่ะ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่จะทำให้น้องๆ ได้ทำความรู้จักกันเร็วขึ้น เนื่องจาก นศ. ฝึกงานนั้นมาจากหลายสถาบัน หลายจังหวัด ต่างภูมิภาค การที่มีกิจกรรมอะไรสนุกๆ ได้ทำร่วมกันก็เป็นการเปิดหน้าต่างของตัวเองกับเพื่อนร่วมงานได้ค่ะ

นศ. ฝึกงานภาคฦดูร้อน ปี 2555
นศ. ฝึกงานภาคฦดูร้อน ปี 2555

และสุดท้ายนี้เป็นภาพกิจกรรมกีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้องที่ถ่ายรูปร่วมกันหลังปิดงานกีฬา ซึ่งปีนั้นเราแข่งฟุตบอลและแชร์บอลกันค่ะ

นศ. ฝึกงานภาคฦดูร้อน ปี 2555







คู่มือการใช้ Mirror Blog เบื้องต้น

นี้คือคู่มือการเข้าใช้การเขียนของเว็บ Mirror Blog เบื้องต้นให้

ขั้นตอนที่ 1

   

ขั้นตอนที่ 2

ขั้นตอนที่ 3

ขั้นตอนที่ 4

ขั้นตอนที่ 5

หมายเหตุ: ในกรณีที่ยังเขียนบทความไม่สมบูรณ์ให้กดที่ "บันทึก" ไว้ก่อน
                  ระบบจะจัดการให้เป็น ฉบับร่าง

ขั้นตอนที่ 6