วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บทสัมภาษณ์พี่มินนี่ จนท. โครงการ รพ มีสุข

            จามจุรี  แซ่ซื้อ หรือ พี่มินนี่ เล่าให้เราฟังว่า เริ่มรู้จักมูลนิธิกระจกเงาตั้งแต่ตอนที่กำลังหาที่ฝึกงาน ตอนแรกคุยกับเพื่อนว่าจะไปฝึกที่สำนักงานเชียงราย แต่ก็กลัวว่าอาจารย์จะไม่สะดวกตอนไปนิเทศ เลยเลือกที่จะมาฝึกงานที่สำนักงานกรุงเทพฯแทน โครงการแรกที่เลือกทำตอนมาฝึกงานคือ โครงการการจัดการภัยพิบัติ เพราะว่าตัวพี่เองเรียนสายพัฒนาชุมชนมาก็จะชอบลงพื้นที่ พอฟังจากชื่อโครงการแล้วก็คิดว่ามันต้องได้อยู่ข้างนอกแน่เลย แต่ปรากฏว่าตอนที่เข้ามาทำหน้างานมันยังไม่มีอะไร พี่ๆเจ้าหน้าที่เลยให้กระจายไปอยู่โครงการอื่นโครงการละหนึ่งคน ตัวพี่มินนี่เองก็เลยได้มาอยู่โครงการโรงพยาบาลมีสุข ส่วนที่ได้มาทำงานที่มูลนิธิกระจกเงาก็เพราะว่าตอนช่วงใกล้เรียนจบ พี่เก่งหัวหน้าโครงการโรงพยาบาลมีสุขก็มาคุยว่าอยากทำงานกับพี่ไหม พี่ก็เลยคิดว่า ไหนๆก็ฝึกงานโครงการนี้แล้ว ได้เห็นหน้างาน ลักษณะงานแล้วว่าเป็นยังไง ก็เลยสนใจ ซึ่งหน้าที่ในการทำงาน ก็ทำทุกอย่างเลย ตั้งแต่เรื่องการลงพื้นที่เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็จะมีการติดต่อประสานงานทั้งฝ่ายโรงพยาบาลและฝ่ายอาสาสมัคร รวมไปถึงเรื่องงานเอกสารพี่มินนี่ก็จะดูแลเรื่องของการเงิน แล้วก็ช่วยพี่เก่งในเรื่องของการทำรายงานสรุปผลโครงการ
            พี่มินนี่เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ประทับใจที่ได้จากการไปลงพื้นที่ให้เราฟังว่า จะมีเคสของน้องคนหนึ่งชื่อว่า น้องบิว น้องบิวป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือเขาต้องทำคีโมแต่เกิดอาการแพ้ ทำให้ทานอาหารไม่ได้ จะกลืนน้ำทีนึงก็ลำบาก ผิวหนังของเขาก็เหมือนคนถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งก่อนหน้านี้น้องบิวก็ได้มาร่วมกิจกรรมในห้องเรียนกับเราก็คุ้นเคยกันในระดับนึง เขาก็เลยบอกคุณครูว่า อยากเจอพี่มินนี่กับพี่มิตร พี่มิตรคือนักศึกษาฝึกงาน ให้ช่วยพามาได้ไหม ถึงเขาอาจจะพูดไม่ค่อยได้แต่เขาก็พยายามสื่อสาร ปรากฏว่าพี่ได้ไปหาเขาก่อนเพราะพี่มิตรฝึกงานเสร็จไปแล้ว ตอนที่พี่เห็นเขาครั้งแรกพี่จำเขาไม่ได้เลย ตัวเขาบวมมาก ผิดปกติจากเดิมแต่พี่เห็นแววตาเขาดีใจที่ได้เจอกับคนคุ้นเคย มันทำให้พี่เห็นได้ว่า กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเรื่องของการรักษา เราได้เห็นเขาจนเขาอาการดีขึ้น เคสน้องบิวเป็นเคสที่ทำให้พี่มีความเชื่อว่า กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนที่ไม่ใช่ญาติเราแต่เขาสนใจเรา เป็นห่วงเรา มันก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น

            เมื่อเราถามพี่มินนี่ถึงการที่ได้มาทำงานตรงจุดนี้ได้อะไรกลับไปบ้าง พี่มินนี่บอกให้ฟังว่า น่าจะเป็นเรื่องของมุมมองความคิดมากกว่า ได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต อย่างที่บอกที่เราชอบคิดเปรียบเทียบว่าทำไมเราไม่มีโอกาสนั่นนี่ เราจะได้เห็นว่าชีวิตหนึ่งของเราที่ไม่เจ็บไม่ป่วยมันมีคุณค่าขนาดไหน เราได้ใช้ชีวิตอิสระ ได้กินอะไรที่อยากกิน ได้ทำอะไรที่อยากทำ แต่ในขณะเดียวกันเด็กที่ป่วยในโรงพยาบาลบางคนแม้อยากจะกินขนม น้ำอัดลม ก็ไม่ได้กิน เขาต้องถูกบังคับให้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต้องควบคุม มันทำให้เรารู้สึกว่าเราโชคดี



โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน  
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา


วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำบอกเล่าจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา

     กรวิกา ก้อนแก้ว หรือ พี่เก่ง เจ้าหน้าที่โครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงาเล่าให้เราฟังถึงตอนที่รู้จักมูลนิธิกระจกเงาครั้งแรกว่า ได้ยินชื่อมูลนิธิกระจกเงามาตั้งแต่ม.4 เพราะตอนนั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนในตัวจังหวัดเชียงราย ชื่อโครงการที่รู้จักโครงการแรกเลยคือ โครงการครูบ้านนอก ที่เชียงราย ตอนนั้นก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นครูบ้านนอกแต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไรจนเงียบหายไป มารู้จักมูลนิธิกระจกเงาอีกทีตอนที่พี่เจี๊ยบหัวหน้าโครงการ NGOs cyber มาฝึกงาน ช่วงที่ฝึกงานพี่เจี๊ยบฝึกในโครงการไอทีอยู่ที่สำนักงานเชียงราย แล้วพี่เจี๊ยบก็ได้เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งตอนนั้นมีตำแหน่งงานว่างอยู่เป็นตำแน่งการเงินของสำนักงานกรุงเทพ พี่เจี๊ยบก็ได้ไปประกาศบนเว็ปของรุ่นว่ามีใครสนใจไหม พี่ก็เลยมาสมัครในตำแหน่งการเงินแล้วก็เริ่มงานตั้งแต่ตอนนั้นมา เมื่อพูดถึงตำแหน่งหน้างานในปัจจุบัน พี่เก่งเล่าให้ฟังว่า ตนทำอยู่ในส่วนของโครงการโรงพยาบาลมีสุขมาได้ประมาณ 9 ปีแล้ว ในตัวโครงการโรงพยาบาลมีสุขจะเป็นงานที่ทำเกี่ยวกับอาสาสมัคร คือหมายถึงการระดมอาสาสมัครเข้าไปเพิ่มความ สุขลดความทุกข์ให้กับผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล ในส่วนของพี่ก็จะทำตั้งแต่กระบวนการคิดว่าจะยังไงให้เด็กมีความสุขเเล้วเมื่อเด็กมีความสุขมันก็จะส่งผลโดยอ้อมไปยังผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ยังไง ซึ่งก่อนที่จะทำโครงการโรงพยาบาลมีสุข ตัวพี่เก่งเองก็ต้องเข้าไปเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 ปี เพื่อเก็บข้อมูล ช่วงแรกๆที่ทำโครงการมันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะด้วยความที่เราเป็น NGO เขาก็จะกลัวว่าเราไปหาผลประโยชน์กับเด็กป่วยหรือเปล่า ทางเราเองก็ต้องพิสูจน์ไปเรื่อยๆ และทำให้สม่ำเสมอ พยายามคิดค้นกิจกรรมใหม่ๆที่จะสามารถช่วยได้จริงๆ เพราะเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจในโรงพยาบาลมันมีความต้องการสูงเพราะมันเป็นพื้นที่ที่ต้องการความปลอดภัยสูง การลงพื้นที่แต่ละครั้งเราก็ต้องมีไหวพริบ คอยสังเกตว่าเด็กแต่ละคนขาดหรือต้องการอะไรเราก็ต้องวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์ได้เราก็ต้องกลับมาออกแบบกิจกรรมว่ากิจกรรมควรจะเป็นแบบไหน
      ฝากข้อคิดถึงอาสาสมัคร
พี่คิดว่าอาสาสมัครเป็นงานของผู้ที่มาให้ เมื่อก่อนพี่ก็คิดแบบนี้ แต่จริงๆคือเราได้รับด้วยนะ คือเราได้เรียนรู้ชีวิตคน เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านชีวิตคนเพราะว่าในโรงพยาบาลมีตั้งแต่คนจนยันคนรวยแต่พอเจ็บป่วยมาทุกคนก็เหมือนกันหมด มีความต้องการเหมือนกันหมด คือต้องการกำลังใจ ต้องการเพื่อน ต้องการความห่วงใย ซึ่งในโรงพยาบาลเองก็ยังมีคนมาเป็นอาสามัครน้อยก็อยากให้คนมาทำในส่วนนี้เยอะๆเอาทักษะของเราที่เราถนัดมาช่วยผลักดันงานตรงนี้ การที่พี่ได้มาทำงานตรงนี้พี่คิดว่าเรามองชีวิตตัวเองละเอียดขึ้นนะ มีความเข้าใจคนมากขึ้นว่า ทำไมเขาต้องโวยวาย ทำไมเขาต้องทำแบบนี้ แต่พอได้ไปอยู่ตรงนั้นมันทำให้เราเข้าใจว่า ทุกอย่างมันมีที่มานะ คนจะแสดงพฤติกรรมแบบนั้นได้มันมีที่มาที่ไปหมด ต้องรู้จักเข้าใจความทุกข์และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้






โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา


วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำบอกเล่าจาก นศ.ฝึกงาน

          นางสาวถิรนันท์ ช่วยมิ่ง หรือกุ๊งกิ๊ง นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกจิตวิทยามหาวิทยาลัยบูรพา นักศึกษาอีกหนึ่งคนที่เลือกมาฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา เธอบอกถึงเหตุผลที่มาฝึกงานที่นี่ว่า ได้ฟังการนำเสนอจากรุ่นพี่ แล้วรู้สึกประทับใจ เพราะจะได้ลงพื้นที่ ได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ที่มากกว่าการทำงานในออฟฟิศ เธอเล่าให้เราฟังว่า ได้ทำในส่วนหน้างานของโครงการผู้ป่วยข้างถนน งานหลักๆที่ทำก็จะเป็นการลงพื้นที่พบผู้ป่วยและนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา ก็จะมีการพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อขอทราบประวัติและเกลี้ยกล่อมให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัว อีกหน้าที่หนึ่งก็จะเป็นการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่สถานสงเคราะห์ต่างๆ 
               กุ๊งกิ๊งบอกต่อว่า เคสที่ได้ไปลงพื้นที่แล้วรู้สึกประทับใจก็คือเคสแรกเลย เพราะมาฝึกงานวันแรกก็ได้ลงพื้นที่เลย แล้วเป็นเคสที่ค่อนข้างป่วยหนัก ผู้ป่วยนอนอยู่ข้างถังขยะ หายใจอิดโรย ทันทีที่ไปถึงหัวหน้าโครงการก็เข้าไปพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ป่วยและเกลี้ยกล่อมให้ไปรักษาตัว คำถามที่สำคัญของหัวหน้าโครงการคือ "ไปรักษาตัวนะ จะได้หายเจ็บ" ทันทีที่ผู้ป่วยตอบตกลงเราก็ติดต่อรถเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลกว่าที่คุณหมอจะยอมนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา กว่าผลตรวจจะออก ก็เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ซึ่งทำให้การลงพื้นที่ครั้งแรกของเรา ทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการผู้ป่วยข้างถนนเลยในทันที เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้จากการฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา กุ๊งกิ๊งบอกว่า มูลนิธิกระจกเงา คือกระจกใบใหญ่ที่สะท้อนอีกมุมของสังคม มุมที่ยังมีคนต้องการความช่วยเหลือ ทำให้พวกเราได้เห็นโลกใบใหม่แต่ไม่ใช่แค่เห็น มูลนิธิกระจกเงายังพาเราเข้าไปสัมผัส มูลนิธิกระจกเงาไม่ได้สอนแค่การทำงานแต่ยังสอนการใช้ชีวิตและสิ่งสำคัญที่สุดคือการสอนให้เห็นคุณค่าของคำว่า 'ให้' สอนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สอนให้ช่วยเหลือสังคมมันคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะทุกคนในมูลนิธิกระจกเงาเชื่อว่าสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับและรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มากคือ 'มิตรภาพ' เป็นมิตรภาพที่ประทับใจที่สุดในชีวิต ทั้งเพื่อนที่ฝึกงานด้วยกันและพี่ๆเจ้าหน้าที่ทุกคน เราใช้เวลารู้จักกันเพียงไม่นานแต่เรารู้สึกเหมือนรู้จักกันมาเป็นปี ทุกคนรักและเอ็นดูซึ่งกันและกัน ยามที่พวกเราเหนื่อย ก็จะคอยมีกำลังใจ รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้กันเสมอ มิตรภาพที่ได้รับจึงเป็นของขวัญที่มีค่าและนับเป็นความโชคดีที่สุดในชีวิต
               ข้อความที่อยากฝากถึงน้องๆ 
คำว่า 'ฝึกงาน' ที่อื่นอาจจะได้แค่ การจำลองชีวิตการทำงานผ่านออฟฟิศหรือบริษัท แต่สำหรับมูลนิธิกระจกเงา จะเป็นการจำลองชีวิตหารทำงานผ่านสังคมจริงๆ ผ่านโลกกว้างและไม่ใช่แค่มองเห็น แต่เรายังได้เข้าไปสัมผัสกับความจริงอีกมุมหนึ่งของสังคม มูลนิธิกระจกเงาทำให้เรามีภูมิคุ้มกันกับความกลัวและความเหนื่อย ทำให้เรารู้จักทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง พอก้าวเข้ามาในมูลนิธิกระจกเงาแล้ว เราจะภูมิใจในคำว่า 'นักศึกษาบ้าฝึกงาน'




โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา






คำบอกเล่าจาก นศ.ฝึกงาน

            น.ส.อาภาพร  สุวรรณะ หรือ แอ๋น นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขา การพัฒนาสังคม ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าให้ฟังถึงเหตุผลของการมาฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงาว่า เธอรู้จักและได้ยินชื่อมูลนิธิกระจกเงามานานแล้วตั้งแต่เรียนมัธยม เพราะเป็นองค์กรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเด็กหาย เรื่องสังคม ก็ค่อนข้างตรงกับสายที่ตนเรียนมาคือ สายพัฒนาสังคม คิดว่าน่าจะได้ประสบการณ์เยอะ ส่วนหนึ่งก็เป็นความฝันด้วยว่าต้องมาที่นี่ให้ได้ ถึงจะไกลแค่ไหนก็อยากมาเพราะมันเป็นความฝันของเรา แอ๋นได้เล่าเกี่ยวกับหน้างานที่เธอได้ทำคือ โครงการอาสามาเยี่ยมให้เราฟังว่า ตอนแรกก่อนที่จะมาฝึกงานโครงการอาสามาเยี่ยมไม่ได้อยู่ในลิสที่เราจะเลือกเลย แต่พอมาฝึกงานจริงๆก็ปรึกษากับพี่สุกี้ว่าจะฝึกโครงการไหนที่จะตรงกับสายที่เรียนมาโดยตรง ตอนนั้นมีให้เลือกอยู่สองโครงการคือ โครงการโรงพยาบาลมีสุขและโครงการอาสามาเยี่ยม เธอก็ตัดสินใจเลือกโครงการอาสามาเยี่ยมเพราะคิดว่าน่าจะได้ลงพื้นที่บ่อยและตรงกับสายที่เธอเรียนมาที่สุด เธอเล่าให้ฟังต่อว่า ฝึกในโครงการอาสามาเยี่ยม รู้สึกประทับใจกับทุกเคสที่ไป แต่จะมีอยู่เคสนึงที่ประทับใจมากคือเคสของ คุณย่าอารมณ์ดีที่ดูแลลูกชายที่นอนป่วยอยู่ เวลาไปลงพื้นที่แกจะอารมณ์ดีมากจะมีมุกตลกเสมอ และตอนที่ไปลงพื้นที่แกก็จะมีของดีให้เป็นธงชัยอันเล็กๆเป็นของมงคลเอามาให้เรา แอ๋นบอกกับเราว่า แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดเวลาไปลงพื้นที่คือ “รอยยิ้ม” รอยยิ้มของพวกเขาเป็นเหมือนพลังไฟที่คอยชาร์ตใจเราให้สู้ต่อ...
            เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้มาฝึกงานที่นี่ แอ๋นได้เล่าว่า ตอนแรกที่มาฝึกงานคือกังวลเรื่องเพื่อนมาก เพราะมากับเพื่อนแค่สองคนกลัวว่าจะเข้ากับใครไม่ได้ แล้วก็กังวลเรื่องหัวหน้าโครงการก็กลัวว่าจะเข้ากับเขาไม่ได้ แต่พอมาจริงๆ คือเล่นกันแบบเป็นพี่เป็นน้อง มันก็เลยทำให้เรามีความสุขในเรื่องของการทำงานด้วย มีความรู้สึกว่า ที่นี่ไม่เหมือนที่ฝึกงานแต่เป็นเหมือนโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อนที่มาฝึกงานก็เป็นเหมือนเพื่อนใหม่ของเรา มันเหมือนเป็นคลาสคลาสหนึ่ง อาจเป็นเพราะมีเด็กฝึกงานเยอะด้วย เราก็เลยรู้สึกอย่างนั้น  ที่นี่มีมากกว่าความสนุกบางทีเราได้ประสบการณ์ได้แนวคิดต่างๆกลับไปด้วย
          
              ข้อความที่อยากฝากถึงรุ่นน้อง
   มูลนิธิกระจกเงาเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าที่ให้เราได้มาเลือกซื้อสินค้า ทั้งในเรื่องของสังคม ความหลากหลายของกลุ่มคน ความหลากหลายของงาน ทั้งหน้างานของเพื่อนและของเราเอง ถ้าใครได้มาฝึกงานที่นี่หรือมีโอกาสได้มาที่นี่จะดีมาก เอาง่ายๆก็คือที่เดียวคุ้ม





โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา
                                                                                                     


                                                                                                               



วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำบอกเล่าจาก นศ.ฝึกงาน

                ทางมูลนิธิกระจกเงา มีโครงการ นักศึกษา(บ้า)ฝึกงาน ซึ่งเราเปิดรับนักศึกษาฝึกงานจากทุกที่ เพราะเราต้องการกำลังเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับองค์กร ทุกๆ ปี มูลนิธิกระจกเงาจะมีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเราก็มีหนึ่งคำบอกเล่าจากเพื่อนนักศึกษาฝึกงานที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝึกงานให้ได้ฟังกัน
            คนแรกคือ น.ส. เหมวรรณ มงคล หรือ แก้ม นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขา นิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้บอกเล่าถึงเหตุผลที่มาฝึกงานที่นี่ว่า ได้ฟังการแนะแนวจากพี่สุกี้ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกระจกเงา ที่ได้ไปแนะแนวเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรให้ฟังที่มหาวิทยาลัย แก้มได้พูดถึงส่วนของหน้างานที่ได้ทำคือ การประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็ได้ทำตรงกับสายที่ตนเรียนมา แต่ก็มีส่วนได้ไปช่วยเหลืองานในส่วนของโครงการอื่นๆด้วย เช่น โครงการอาสามาเยี่ยม ที่จะได้ลงไปเยี่ยมคนชราตามบ้าน นำของใช้ และอาหารแห้งไปให้ รวมไปถึงโครงการแบ่งปัน ที่เราจะได้ไปช่วยแยกของจากผู้ที่มาบริจาค เธอยังเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ประทับใจตอนที่ได้ไปลงพื้นที่กับโครงการอาสามาเยี่ยม เป็นเคสของคุณตากับคุณยายที่อยู่กันสองคน คุณตาจะเป็นคนที่คอยป้อนข้าวคุณยายทุกครั้ง ทั้งมื้อเช้า กลางวัน เย็น ซึ่งคุณตาก็ป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ลักษณะก็ไม่ได้เหมือนกับคนป่วย เพราะคุณตามีกำลังใจที่อยากจะดูแลคุณยายด้วยความรัก เธอยังได้เล่าต่ออีกว่า แต่ละเคสที่ได้ไปก็จะทำให้รู้สึกมีกำลังใจ ทุกครั้งที่ได้ไปก็จะได้รับกำลังใจกลับมาเหมือนว่าเราไปมอบให้เขาเราก็ได้รับกลับมาด้วย
           
            ข้อความที่อยากฝากถึงรุ่นน้อง
                        ฝากถึงน้องๆที่ไม่ชอบทำงานในออฟฟิศ ชอบงานลุยๆ ก็แนะนำให้มามูลนิธิกระจกเงา เราจะได้เพื่อนเยอะ เพื่อนที่นี่ก็จะนิสัยเป็นกันเอง สนิทกันเร็ว เรามาที่นี่เราไม่ได้ฝึกงานแค่ในสายงานที่เราเรียนมา แต่เราได้อะไรหลายๆอย่างกลับไปจากทุกๆโครงการที่มูลนิธิกระจกเงา








                                                            โดย น.ส.อมรรัตน์  เงินสูงเนิน 
นักศึกษาฝึกงานมูลนิธิกระจกเงา