นางสาวถิรนันท์ ช่วยมิ่ง หรือกุ๊งกิ๊ง
นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกจิตวิทยามหาวิทยาลัยบูรพา
นักศึกษาอีกหนึ่งคนที่เลือกมาฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา
เธอบอกถึงเหตุผลที่มาฝึกงานที่นี่ว่า ได้ฟังการนำเสนอจากรุ่นพี่
แล้วรู้สึกประทับใจ เพราะจะได้ลงพื้นที่
ได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ที่มากกว่าการทำงานในออฟฟิศ เธอเล่าให้เราฟังว่า
ได้ทำในส่วนหน้างานของโครงการผู้ป่วยข้างถนน
งานหลักๆที่ทำก็จะเป็นการลงพื้นที่พบผู้ป่วยและนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา
ก็จะมีการพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อขอทราบประวัติและเกลี้ยกล่อมให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัว
อีกหน้าที่หนึ่งก็จะเป็นการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่สถานสงเคราะห์ต่างๆ
กุ๊งกิ๊งบอกต่อว่า
เคสที่ได้ไปลงพื้นที่แล้วรู้สึกประทับใจก็คือเคสแรกเลย
เพราะมาฝึกงานวันแรกก็ได้ลงพื้นที่เลย แล้วเป็นเคสที่ค่อนข้างป่วยหนัก
ผู้ป่วยนอนอยู่ข้างถังขยะ หายใจอิดโรย
ทันทีที่ไปถึงหัวหน้าโครงการก็เข้าไปพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ป่วยและเกลี้ยกล่อมให้ไปรักษาตัว
คำถามที่สำคัญของหัวหน้าโครงการคือ "ไปรักษาตัวนะ จะได้หายเจ็บ"
ทันทีที่ผู้ป่วยตอบตกลงเราก็ติดต่อรถเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
เมื่อไปถึงโรงพยาบาลกว่าที่คุณหมอจะยอมนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา
กว่าผลตรวจจะออก ก็เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ซึ่งทำให้การลงพื้นที่ครั้งแรกของเรา
ทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการผู้ป่วยข้างถนนเลยในทันที เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้จากการฝึกงานที่มูลนิธิกระจกเงา กุ๊งกิ๊งบอกว่า
มูลนิธิกระจกเงา คือกระจกใบใหญ่ที่สะท้อนอีกมุมของสังคม
มุมที่ยังมีคนต้องการความช่วยเหลือ ทำให้พวกเราได้เห็นโลกใบใหม่แต่ไม่ใช่แค่เห็น
มูลนิธิกระจกเงายังพาเราเข้าไปสัมผัส มูลนิธิกระจกเงาไม่ได้สอนแค่การทำงานแต่ยังสอนการใช้ชีวิตและสิ่งสำคัญที่สุดคือการสอนให้เห็นคุณค่าของคำว่า
'ให้' สอนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สอนให้ช่วยเหลือสังคมมันคือการให้ที่ยิ่งใหญ่
เพราะทุกคนในมูลนิธิกระจกเงาเชื่อว่าสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้
และอีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับและรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มากคือ 'มิตรภาพ'
เป็นมิตรภาพที่ประทับใจที่สุดในชีวิต
ทั้งเพื่อนที่ฝึกงานด้วยกันและพี่ๆเจ้าหน้าที่ทุกคน
เราใช้เวลารู้จักกันเพียงไม่นานแต่เรารู้สึกเหมือนรู้จักกันมาเป็นปี
ทุกคนรักและเอ็นดูซึ่งกันและกัน ยามที่พวกเราเหนื่อย ก็จะคอยมีกำลังใจ รอยยิ้ม
และเสียงหัวเราะให้กันเสมอ
มิตรภาพที่ได้รับจึงเป็นของขวัญที่มีค่าและนับเป็นความโชคดีที่สุดในชีวิต
ข้อความที่อยากฝากถึงน้องๆ
คำว่า 'ฝึกงาน' ที่อื่นอาจจะได้แค่
การจำลองชีวิตการทำงานผ่านออฟฟิศหรือบริษัท แต่สำหรับมูลนิธิกระจกเงา
จะเป็นการจำลองชีวิตหารทำงานผ่านสังคมจริงๆ ผ่านโลกกว้างและไม่ใช่แค่มองเห็น แต่เรายังได้เข้าไปสัมผัสกับความจริงอีกมุมหนึ่งของสังคม
มูลนิธิกระจกเงาทำให้เรามีภูมิคุ้มกันกับความกลัวและความเหนื่อย
ทำให้เรารู้จักทำเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง พอก้าวเข้ามาในมูลนิธิกระจกเงาแล้ว
เราจะภูมิใจในคำว่า 'นักศึกษาบ้าฝึกงาน'
โดย น.ส.อมรรัตน์ เงินสูงเนิน
นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิกระจกเงา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น